Afleveringen

  • 23 ม.ค. 68 - แก่อย่างมีความสุข : ใจจะไหลไปอดีต ลอยไปอนาคต ก็ดึงกลับมา ทำที่บ้าน ทำทุกวัน แล้วใจก็จะเริ่มมีความสดชื่น เพราะความรู้สึกตัวจะช่วยขับไล่ความเบื่อ ความเซ็ง ความเหงา มันจะปกป้องใจไม่ให้ความคิดเกี่ยวกับอดีตและอนาคตมารบกวนบีบคั้นเรา

    อย่าขยันแต่ทำบุญอย่างที่เคยทำ อันนี้ก็ดีอยู่แต่มันไม่พอ ต้องฝึกปฏิบัติธรรมด้วยเพื่อเราจะได้มีเครื่องมือรักษากายและใจ ตอนนี้มันเป็นช่วงเวลาที่เราต้องเปลี่ยนเกียร์แล้วนะ จากเกียร์ 4 เกียร์ 5 มาเปลี่ยนเป็นเกียร์ 1 เกียร์ 2 จากการแสวงหาความสำเร็จ ชื่อเสียง เงินทอง แสวงหาความสุขสิ่งเสพ มาเป็นการดูแลรักษากายและใจให้เป็นสุข แล้วเราก็จะเป็นคนแก่ได้อย่างมีความสุข ใครจะเรียกว่าเราแก่ เราก็ไม่ได้อับอายอะไร ไม่ต้องเรียกว่าสูงวัยก็ได้ แก่อย่างมีคุณภาพ แก่อย่างมีความสุข ถึงเวลาป่วยก็จะป่วยได้โดยไม่ทุกข์ เพราะว่าเรามีธรรมะรักษากายและใจ เวลาป่วยก็ป่วยแต่กาย ใจไม่ป่วย ไม่วิตกกังวลอะไร อยู่กับความเจ็บป่วย อยู่กับความแก่ได้ด้วยใจที่ไม่ทุกข์ นี่แหละคือสิ่งที่ธรรมะจะช่วยเราได้
  • 22 ม.ค. 68 - ชีวิตที่ถูกตามใจเป็นทุกข์ได้ง่าย : คนทุกวันนี้จิตใจอ่อนแอมาก ไม่สามารถที่จะสู้หรือทัดทานกิเลสได้ เพราะว่าถูกตามใจมาตลอด แล้วสิ่งที่ตามใจก็อย่างที่บอก ไม่ใช่พ่อแม่เท่านั้น แต่รวมถึงเทคโนโลยี โทรศัพท์มือถือ โซเชียลมีเดีย พวกนี้มันปรนเปรอเราตลอดเวลา ถ้าเราไม่รู้ทัน เราก็จะพึ่งพา เสพติดมัน แล้วก็ตกเป็นทาสของมัน เพราะว่าไม่มีความสามารถในการยับยั้งชั่งใจ หรือทักท้วงกิเลสได้ การเจริญสติก็เป็นสิ่งสำคัญ แต่นั่นเป็นเรื่องของปัจจัยภายใน เราต้องช่วยกันสร้างหรือสรรหาปัจจัยภายนอกที่จะเกื้อกูลต่อการภาวนา ต่อการทำให้จิตใจของเราเข้มแข็งขึ้น

    ปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในเป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กัน มีแต่ปัจจัยภายใน แต่ว่าไม่ให้ความสำคัญกับปัจจัยภายนอก สติหรือว่าปัญญาของเราก็อาจจะไม่เข้มแข็งมากพอที่จะสู้กับกิเลสได้ แต่ถ้าหากว่ามีแต่ปัจจัยภายนอก แต่ไม่สร้างปัจจัยภายใน คือไม่ได้ฝึกจิตฝึกใจไว้ พอเราเปลี่ยนที่ กลับไปอยู่สถานที่เดิม มันก็กลับไปสู่ร่องเดิม ก็คือร่องแห่งความทุกข์ ชีวิตที่ย่ำแย่ ฉะนั้นถ้าเรารักชีวิต รักจิตรักใจของตัวเอง เราต้องรู้จักสร้างปัจจัยภายใน ควบคู่ไปกับการหาปัจจัยภายนอกที่จะช่วยทำให้เราเป็นตัวของตัวเองได้อย่างแท้จริง ไม่ว่าจะมีสิ่งล่อเร้าเย้ายวนอย่างไร ก็ไม่ปล่อยใจให้หลงใหล หรือไม่ปล่อยให้กิเลสมีอำนาจเหนือจิตใจของเรา
  • 21 ม.ค. 68 - ความทุกข์ไม่จริง : หลายคนเวลาพูดถึงอนิจจัง บางทีก็หวั่นไหว เพราะว่าอนิจจังก็หมายความว่าร่างกายก็จะเสื่อมถอยลงไป อันนี้รวมไปถึงทุกขังด้วย มันไม่เที่ยง คนรักของเรา พ่อแม่ของเรา ลูกของเราไม่เที่ยง สักวันหนึ่งพ่อแม่ก็จากเราไป หรือว่าต่อไปเราก็จะจากลูกจากหลาน นี่เพราะอนิจจัง ความหนุ่มความสาวก็จะเลือนหายไป มีความแก่มาแทนที่ นี่ก็อนิจจัง แล้วก็ทุกขัง

    หลายคนพอนึกถึงอันนี้แล้ว จิตใจก็หวั่นไหว ยิ่งนึกถึงความตาย ก็ยิ่งรู้สึกว่าอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันชวนให้หดหู่ แต่ที่จริงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นของดีถ้าเข้าใจ ว่าที่เราทุกข์ เพราะว่าไปยึดมันต่างหาก ไปยึดสิ่งที่มันไม่เที่ยง ไปยึดสิ่งที่มันเป็นทุกข์ ไปยึดสิ่งที่มันไม่ใช่เราของเรา แล้วถึงเวลาที่มันแปรเปลี่ยนไป ถึงเวลาที่มันทุกข์ มันเสื่อมสลายไป ถึงเวลาที่ไม่อยู่ในอำนาจของเรา เราจึงเกิดความโกรธ ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความคับแค้นใจ เราไม่ได้ทุกข์เพราะอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เราทุกข์เพราะไม่รู้จักอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาต่างหาก คือไม่รู้จักความจริง เพราะถ้าเรารู้จักอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือเข้าใจพระไตรลักษณ์นี้อย่างแท้จริง มันไม่ทุกข์ ที่ว่าไม่ทุกข์ไม่ใช่เพราะว่าสิ่งต่าง ๆ ไม่เสื่อม มันมีเสื่อม มีสลาย แต่เพราะไม่ยึดมั่นถือมั่นว่ามันเป็นเราเป็นของเรา ไม่ยึดมั่นถือมั่นว่ามันจะต้องไม่เสื่อม เพราะฉะนั้นพอมันเสื่อมไปก็เลยไม่ทุกข์
  • 20 ม.ค. 68 - สุขมีที่กลางใจ : คร ๆ ย่อมปรารถนาความสุข ทำทุกอย่างเพื่อหาความสุขมาเป็นของตน แต่ส่วนใหญ่แล้วมักคิดว่าสิ่งที่จะให้ความสุขนั้นอยู่นอกตัว และต้องมีให้ได้มาก ๆ ยิ่งหามาได้มากเท่าไร ก็ยิ่งมีความสุขมากเท่านั้น ดังนั้นจึงพยายามดิ้นรนไขว่คว้าหาเข้าตัวอย่างเต็มที่ โดยหารู้ไม่ว่าแท้จริงแล้วความสุขนั้นอยู่ที่ใจ หากแต่ถูกบดบังด้วยความทะยานอยากและความหลง ต่อเมื่อคลายจากความทะยานอยากและมีสติรู้ตัว ก็จะพบกับความสงบเย็นและโปร่งเบาในใจ ถึงตอนนั้นจึงจะพบว่าความสุขนั้นอยู่กับตัวเรามาตลอด เป็นแต่เรามองไม่เห็น

    ความสุขนั้นหาได้ที่กลางใจ ขอเพียงแต่มีเวลาอยู่กับตัวเองให้มากจนเป็นมิตรกับตัวเอง ไม่มัวแต่ชะเง้อมองไปนอกตัว หรือจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ตนเองยังไม่มี ถ้าไม่ลืมตัว ปล่อยจิตให้หลงอยู่ในโลกแห่งความคิด หรือจมอยู่กับอดีตและอนาคต ก็จะพบความสุขกลางใจได้ไม่ยาก อันที่จริงเพียงแค่พอใจสิ่งที่มี ยินดีสิ่งที่ได้ ความสุขก็จะปรากฏแก่เราในทันที
  • 19 ม.ค. 68 - เห็นทุกข์ก่อนจึงคลายทุกข์ได้ : ชายคนที่หึงหวง ตอนหลังเขาพบว่า มันไม่ได้เห็นใจเฉพาะตอนที่เกิดความหึงหวงเกิดความโกรธ เวลาใจโปร่งใจโล่งก็เห็น รับรู้ได้โดยที่ไม่รู้ตัวเขาก็พบ เขาก็ได้สร้างความรู้สึกตัวให้เกิดขึ้นในจิตใจ และพบว่าใจไม่ได้ถูกครอบงำด้วยความหึงหวงอย่างเดียว ช่วงเวลาที่มีความโปร่งเบาเป็นอิสระก็มี เพราะความรู้สึกตัว ก็เริ่มเห็นความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป

    เพราะฉะนั้นอารมณ์หึงหวง มันก็เลยไม่สามารถจะครอบงำจิตใจเขาได้ ยังมีอยู่แต่ทำอะไรใจเขาไม่ได้ ตอนหลังก็ค่อยๆคลี่คลายไป กลายเป็นว่าเขาสามารถที่จะครองจิตครองใจได้ด้วยความรู้สึกตัว ไม่ต้องถูกปัญหานี้รุมเร้าซึ่งทำให้ความสัมพันธ์กับภรรยามันร้าวฉาน ฉะนั้นการมีสติรู้ทันอารมณ์ต่าง ๆ มีอานุภาพมาก ข้อสำคัญคือ มันต้องมีการปฏิบัติ และจะปฏิบัติได้ก็เพราะเห็นว่ามันจะช่วยแก้ปัญหา จะทำอย่างนี้ได้ก็ต้องเห็นว่าความโกรธ ความทุกข์ ความเครียด พวกนี้เป็นปัญหาก่อน เห็นโทษของมันแล้วคิดจะแก้ ถ้าไม่เห็นโทษของมัน ไม่คิดว่ามันเป็นปัญหา หรือไม่รู้ว่ามันมีด้วยซ้ำ อันนี้ก็เท่ากับตกเป็นทาสของมัน จนกระทั่งกว่าจะรู้ตัวก็อาจจะสายไปแล้วก็ได้
  • 18 ม.ค. 68 - เจออะไรไม่สำคัญว่าทำอย่างไร : แต่ถึงแม้เราเจอสิ่งแย่ ๆ เจออุปสรรค เจอความล้มเหลว เจอคำต่อว่าด่าทอ เจอความยากลำบาก เจอความร้อน เจอความหนาว แต่ว่าเราเกี่ยวข้องกับมันอย่างถูกต้อง ไม่หลง ไม่หลงจมอยู่ในความทุกข์ เอาแต่หงุดหงิด โวยวายตีโพยตีพาย มีสติเห็นมัน หรือว่ายกจิตเป็นอิสระจากมัน ไม่มีความยึดว่าเป็นกู เป็นของกู หนาวก็เห็นความหนาวแต่ว่าไม่มีผู้หนาว ร้อนก็เห็นความร้อนแต่ไม่มีผู้ร้อน

    ใครเขาต่อว่าด่าทอมา เสียงต่อว่าก็เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา ไม่มีอัตตาเข้าไปยึดเข้าไปจับ อันนี้ดีกว่าคนที่ได้รับแต่คำชื่นชมสรรเสริญแต่ก็หลงเพลินในสิ่งเหล่านั้น อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนพระนันทิยะว่า ผลแห่งความดีย่อมเป็นพิษจากผู้ไม่พิจารณา แล้วก็หลงใหลยึดติดในสิ่งนั้นจนประมาทมัวเมา ผลแห่งความดีในที่นี้ก็หมายถึงคำชื่นชมสรรเสริญ ใคร ๆ ก็ชอบ การได้รับการยกย่อง มีสถานภาพดีเรียกว่าเป็นผลแห่งความดี แต่ถ้าหากว่าเพลิน หลงใหลในสิ่งนั้น อันนี้ไม่ดีเท่ากับคนที่ถูกต่อว่าด่าทอแต่ว่าจิตใจไม่หวั่นไหว หรือว่าแม้จะอยู่ในภาวะที่ต่ำต้อยแต่ว่าก็ไม่ได้ทุกข์ระทม เพราะรู้ว่ามันไม่ใช่สาระของชีวิต หรือเพราะไม่ได้ยึดติดถือมั่นในหน้าตา ฉะนั้นเวลาเราปฏิบัติธรรม อย่าไปมัวสนใจว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับเรา แต่สนใจว่าเราทำอย่างไรกับมันดีกว่า เพราะนี่แหละเป็นเครื่องหมายของการเป็นนักปฏิบัติถ้าเราปฏิบัติถูก
  • 17 ม.ค. 68 - สุขหรือทุกข์อยู่ที่การให้ค่า : ยิ่งคิดก็ยิ่งรู้ มันยิ่งคิด เราก็ยิ่งรู้ กลายเป็นของดีไปเลย อันนี้รวมถึงเหตุการณ์ในอดีตด้วย ความยากจน ความล้มเหลว เวลานึกถึงมันแล้วก็รู้สึกจิตใจห่อเหี่ยว ท้อแท้ บางทีน้อยเนื้อต่ำใจในโชคชะตา แต่พอเรามองมันอีกครั้งหนึ่งโดยการให้ความหมายใหม่กับมันว่า มันเป็นสิ่งที่ฝึกใจเราให้เข้มแข็ง มันทำให้เราได้เห็นความจริงของชีวิต มันได้ปลุกเอาความสามารถที่แฝงเร้นอยู่ในจิตใจของเราออกมา ถ้าไม่เจอมันก็จะไม่รู้ว่าเรามีความอดทน มีความเข้มแข็ง มีสติปัญญา ต้องขอบคุณ

    หลายคนเคยคับแค้นใจกับประสบการณ์ในอดีต แต่พอเวลาผ่านไปหลายปี มองย้อนกลับมาเหตุการณ์เดียวกัน กลับซาบซึ้ง ขอบคุณ เพราะอะไร เพราะว่าเห็นคุณค่าของมัน หรือพูดอีกอย่างก็คือว่าให้ค่าหรือให้ความหมายใหม่กับมัน ไม่ได้มองว่ามันเป็นเรื่องเลวร้าย แต่มองว่ามันเป็นสิ่งที่ฝึกฝนให้เราแกร่งอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ถ้าไม่มีเหตุการณ์นั้นหรือถ้าไม่มีวันนั้น เราก็ไม่มีวันนี้ ก็ต้องขอบคุณ แล้วต้องฉลาดในการจัดการ หรือในการรับมือกับสิ่งต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต โดยตระหนักว่าเมื่อมันเกิดขึ้น เราจะสุขหรือทุกข์ไม่ใช่เพราะมัน แต่เพราะใจของเรานี้ไปให้ค่ากับมัน ถ้าเราให้ค่าในทางลบ เราก็ทุกข์ ถ้าเราให้ค่าในทางบวก เราก็ไม่ทุกข์ แถมจะมีความสุขหรือยินดีด้วยซ้ำ
  • 11 ม.ค. 68 - เข้าใจเรื่องกรรมอย่างไรให้ถูกต้อง : เพราะฉะนั้นความเจ็บ ความป่วย ไม่ใช่เป็นสิ่งเลวร้ายเสมอไป อยู่ที่ว่าเราจะมองหรือเราจะใช้มันอย่างไร ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องของกรรม ถ้าเรามองเป็น มีโยนิโสมนสิการ เราก็เห็นสังขารว่าเป็นทุกข์ ไม่น่ายึดถือ เห็นว่าทุกขเวทนาเป็นโทษของสังขาร ทุกขเวทนานั้นก็ส่งให้จิตหลุดพ้น แต่ถ้าเกี่ยวข้องกับทุกขเวทนาไม่เป็น ทุกขเวทนาก็จะดึงจิตลงมาให้จมอยู่กับอารมณ์ที่เป็นอกุศล โศกเศร้า เกิดโทสะ เกิดความคับแค้น ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้จนถึงจิตสุดท้าย ก็ไปอบายแล้ว

    ทุกขเวทนานี้ถ้าคุณใช้เป็น มันสามารถจะส่งจิตให้หลุดพ้น หลุดพ้นจากวัฏสงสาร หลุดพ้นจากกิเลสได้ แต่ถ้าเกี่ยวข้องไม่เป็น ทุกขเวทนาจะดึงจิตให้จมปลักอยู่กับความทุกข์แสนสาหัส อยู่กับอารมณ์ที่เป็นอกุศล แล้วเกี่ยวข้องกับทุกขเวทนาอย่างไร อยู่ที่การฝึก เป็นเรื่องของกรรม ทุกขเวทนาเกิดจากอะไรเราไม่ไปเสียเวลาถามว่าเป็นเพราะกรรมเก่าหรือเพราะกรรมในปัจจุบัน เราจะสนใจว่าเราจะรับมือกับมันอย่างไร จะมีสติเห็นมัน จะมีปัญญาเห็นจนเข้าถึงสัจธรรม หรืออยู่ในความหลง ปล่อยให้มันครอบงำจิตจนเป็นอกุศลคับแค้น ตรงนี้เราเลือกได้ อยู่ที่การกระทำของเรา การกระทำที่ว่านี้คือกรรมฐาน จะใช้กรรมฐานหรือไม่ แล้วเรื่องกรรมไม่ใช่เป็นเรื่องของการทำดี ไม่เบียดเบียนใครเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของการฝึกจิตจนกระทั่งอยู่เหนือกรรม จนหลุดพ้นเข้าถึงความสงบเย็นได้
  • 9 ม.ค. 68 - ปกป้องใจจากความคิดของตัว : อะไรที่จะทำให้เราเห็นว่า ความคิดไม่ใช่เรา ความคิดไม่ใช่ของเรา ก็สตินั่นแหละ เพราะสติมันช่วยทำให้เห็นความคิด และไม่ยึดความคิดว่าเป็นเรา ว่าเป็นของเรา ถ้าเราเผลอไปยึดว่าความคิดเป็นเรา เป็นของเราเมื่อไหร่ เราก็จะยึด แล้วก็เชื่อ แล้วก็ปล่อยให้มันครองจิตครองใจ เป็นจุดอ่อนของจิต ความคิดนี้มันจะเข้ามาทำร้ายเราได้ หรือว่าความคิดที่แย่ๆ หรืออารมณ์ที่แย่ๆ หรืออารมณ์อกุศล

    ถ้าไปหลงคิดว่าเป็นเรา เป็นของเรา มันก็เลยจู่โจม ทะลุทะลวง ทำร้ายจิตใจเรา แต่ถ้าเห็นนะว่ามันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา มันเป็นสักแต่ว่านาม แต่ไม่ใช่เรา ก็ไม่ปล่อยให้มันเข้ามาทะลุทะลวงทำร้ายจิตใจได้ เพราะฉะนั้นทุกวันนี้คนเราจำเป็นอย่างมากที่จะต้องมีสติในการรักษาใจให้ปลอดภัยจากความคิดและอารมณ์ต่างๆ ที่มันเกิดขึ้นในหัว มันเกิดขึ้นก็ต้องพิจารณาว่าดีไหม ไม่ใช่หลงเชื่อมันทุกอย่าง หรือแม้แต่ดีก็ไม่ไปหมกมุ่นจมดิ่ง หรือว่าไปเคลิ้มคล้อยมัน จนกระทั่งหมดเนื้อหมดตัว
  • 8 ม.ค. 68 - เจออะไรก็ได้เสมอ : ถ้าหากว่าเราไม่ได้ทำเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างเดียว แต่ว่าเรามุ่งเพื่อการเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วย ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นก็ได้ทั้งนั้น ได้ฝึกตน ได้เห็นข้อผิดพลาด ได้ฝึกการวางใจ เรียกว่ามีแต่ได้กับได้ ถ้าไม่ได้ 1 ก็ได้ 2 ได้ 2 คือว่างานก็สำเร็จ แล้วก็ได้ฝึกตนฝึกจิตฝึกใจ แต่ถ้างานไม่สำเร็จก็ยังได้ คือได้ฝึกจิต

    เพราะฉะนั้นที่ท่านพุทธทาสบอกว่าการทำงานคือการปฏิบัติธรรม ก็คือการที่เราฝึกให้รู้จักการขัดเกลาจิตใจตนเอง ถ้าเราเห็นว่าหรือมองว่าการทำงานคือการปฏิบัติธรรม แม้งานไม่สำเร็จ แต่ก็ได้ปฏิบัติธรรมคือได้ฝึกจิตแล้ว ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นกับเรา ไม่ว่าเราเจออะไร ดูดีๆ เรามีแต่ได้ แม้ในยามที่ใครเขาบอกว่าแพ้ แต่ก็ยังได้ ได้เห็นสัจธรรมว่ามันไม่ได้มีแต่ชนะ มันมีแพ้ด้วย แล้วการแพ้มันก็ดี ช่วยลดอัตตาตัวตน เพราะถ้าชนะแล้วมันเหลิง
  • 5 ม.ค. 68 - ผ่านวิกฤตด้วยสติ : ชีวิตที่ไม่มีความเสี่ยง ก็คือชีวิตที่เสี่ยงอย่างยิ่ง หรือชีวิตที่ไม่มีความผิดหวัง เลยไม่รู้จักความผิดหวัง จะเป็นชีวิตที่อันตรายมาก ถึงเวลาทุกข์ ก็ทุกข์หนัก ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องเล็กน้อย ตัวเองทุกข์คนเดียวไม่พอ ทำให้คนอื่นทุกข์ ถึงกับล้มตายด้วย

    ถ้าเกิดว่าเราพยายามฝึกให้มีสติ ด้วยการเผชิญกับสิ่งต่างๆ ที่ไม่ถูกใจ เอาสิ่งเหล่านี้มาเป็นแบบฝึกหัด มาเป็นการบ้าน มาฝึกเรา ก็กลายเป็นของดีไป แทนที่จะทุกข์เพราะมัน ก็กลับเติบโตเพราะมัน มันในที่นี้ก็หมายถึง สิ่งที่ไม่ถูกใจ คำต่อว่าด่าทอ หรือว่าความเจ็บความป่วย ความสูญเสีย พวกนี้เป็นการบ้านอย่างดี สำหรับการฝึกจิต หรือบางทีถ้าไม่มี ชีวิตมันง่ายราบรื่นเกินไป ก็ต้องดิ้นรนไปแสวงหาความยากลำบาก หลายคนพบว่าธรรมยาตรานี่ มีประโยชน์ก็ตรงนี้แหละ พอไปเจอความยากลำบากแล้ว ก็ได้เรียนรู้ ว่าจะใช้สติรับมือกับความยากลำบากนั้นอย่างไร อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เราควรจะให้ความสำคัญ การเดินหน้าเข้าหาทุกข์ หรือการแสวงหาทุกข์ เหมือนกับที่พระออกไปธุดงค์ เพื่อไปเจอความยากลำบาก แล้วก็จะใช้สติรับมือกับความยากลำบากอย่างไร โดยเฉพาะความกลัว ความหงุดหงิด ความหิว พวกนี้ล้วนเป็นสิ่งที่ฝึกสติได้ดี แล้วก็ฝึกความอดทน คือ ขันติ ได้ดี ถึงเวลาเจอวิกฤตในชีวิต เจอเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ที่มันทำให้เกิดความเศร้าโศกเสียใจอย่างรุนแรง เกิดความตื่นตระหนกตกใจ สติที่ฝึกเอาไว้ก็จะเอาอยู่​ ไม่ใช่ว่าไม่มีอารมณ์พวกนี้ ก็มี แต่ว่ามีสติ ที่สามารถจะรับมือกับอารมณ์พวกนี้ได้ เพราะฉะนั้นก็สามารถที่จะผ่านวิกฤตต่างๆ ในชีวิตไปได้ โดยที่ไม่ต้องเสียผู้เสียคน อย่างที่มักเกิดขึ้นกับคนจำนวนมาก
  • 4 ม.ค. 68 - ยิ่งหนีทุกข์ ยิ่งเป็นทุกข์ : หลงชนิดหนึ่งคือไม่รู้ตัว ไม่รู้ว่ายึดด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ว่ามีความโกรธแล้วมันจะทุกข์ทันที ไม่ใช่ว่ามีความหงุดหงิดแล้วมันจะทุกข์ทันที ไม่ใช่ว่ามีความเศร้าแล้วมันจะทุกข์ทันที

    อารมณ์พวกนี้ถ้ามันเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความหงุดหงิด ความเศร้า พอเห็นมัน มันก็ทำอะไรใจไม่ได้ เพราะพอเห็นมัน ก็ไม่เข้าไปยึดมัน พอมีความสติ มีความรู้สึกตัว ก็พาจิตถอยห่างจากอารมณ์เหล่านั้น เหล่านี้คือสิ่งที่เราควรจะอธิษฐาน พูดง่ายๆ ก็คือ ขอให้มีธรรมะเกิดขึ้นในใจ เพื่อที่จะพร้อมรับมือกับความทุกข์ได้ จนถึงขั้นว่า เปลี่ยนทุกข์ให้กลายเป็นธรรม หรือเปลี่ยนทุกข์ให้กลายเป็นความไม่ทุกข์ได้​ แล้วพอเราเห็นว่า มันต้องมีสิ่งนี้ เราก็จะขยับจากการอธิษฐาน ขอให้มีสิ่งนี้ กลายเป็นว่า มาปฏิบัติเพื่อให้มีสิ่งนี้เกิดขึ้นมาในใจเราแทน มันดีกว่าการร้องขอเยอะ คนทุกวันนี้ ก็เอาแต่ร้องขอ อย่าได้เกิดอันตราย อย่าให้เกิดทุกข์ แต่ไม่ได้มองว่า มันเป็นสิ่งที่หนีไม่พ้น ในเมื่อมันสามารถจะเกิดขึ้นได้ ก็ขอให้เรามีความพร้อมในการรับมือจนถึงขั้นว่า เปลี่ยนทุกข์ให้กลายเป็นความไม่ทุกข์ หรือเปลี่ยนทุกข์ให้กลายเป็นธรรม หรือสามารถพบสุขท่ามกลางความทุกข์ได้ อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้มีปัญญาแม้ประสบทุกข์ก็ยังหาสุขพบ อย่างนี้ต่างหากที่ควรนึกถึงมากกว่า และนี่ก็คือวิสัยของชาวพุทธที่จะช่วยให้เราอยู่กับชีวิต หรือโลกที่มันผันผวนปรวนแปรได้โดยที่ใจไม่ทุกข์
  • 3 ม.ค. 68 - ธรรมชาติของอารมณ์ที่เราต้องรู้ทัน : ความโกรธมันกลัว กลัวว่าเราจะลืมโกรธ เหมือนกับความเศร้า มันก็กลัวว่าเราจะลืมเศร้า มันก็เลยบงการตอกย้ำซ้ำเติมความเศร้า ตอกย้ำซ้ำเติมความโกรธต่อไปเรื่อยๆ เราก็หลงเชื่อมัน เพราะอะไร เพราะเราหลง เพราะเราขาดสติ​ แต่ทันทีที่เรามีสติ มันจะเห็นเลยนะ ว่าเราไม่น่าโง่เลย ทำไมเราไปหลงทำตามความเศร้า หรือไปหลงจมอยู่กับความโกรธได้

    ความรู้สึกตัวนี่ ถ้ามันมีมากพอ มันจะทำให้ใจหลุดจากความเศร้า หลุดจากความโกรธ มันจะเห็นความโกรธ มันจะเห็นความเศร้า ความเป็นผู้โกรธผู้เศร้านี่ มันไม่เหลือเลย นี่เป็นวิธีการที่จะทำให้ความเศร้าความโกรธ มลายหายไปจากจิตใจ แต่ว่าความเศร้าความโกรธมันไม่ยอมนะ มันจะพยายามทำทุกอย่าง เพื่อให้เราเศร้าต่อไป เพื่อให้เราโกรธต่อไป รวมทั้งเบื่อ รวมถึงซึมเศร้า และท้อแท้​ เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดว่าเราหลงเมื่อไหร่ เราก็จะตกอยู่ในอำนาจของมัน แล้วก็ปรุงแต่งมันให้ลุกลามใหญ่โต ให้อาหารมัน ให้อาหารทั้งความเศร้า ให้อาหารทั้งความโกรธ แต่ความรู้สึกตัวนี้แหละ สตินี้จะช่วยทำให้ใจเราเป็นอิสระจากความเศร้า จากความโกรธได้ มันจึงไม่ชอบให้เรามาเจริญสติ ไม่ชอบให้เรามาตามดูเห็นมัน ต้องพยายามชวนให้ส่งจิตออกนอก เพราะถ้าเกิดว่าใจเราหันกลับมามองตนเมื่อไหร่ มันจะเห็นตัวเศร้า มันจะเห็นตัวโกรธ แล้วมันก็จะอยู่ไม่ได้ เราต้องรู้ ต้องเข้าใจธรรมชาติของอารมณ์พวกนี้ ว่ามันมีสัญชาตญาณ หรือธรรมชาติอย่างหนึ่งคือ ทำทุกอย่างเพื่อความอยู่รอด ถ้าเราไม่เข้าใจ หรือไปหลงเชื่อ ปล่อยใจไปตามอำนาจของมัน เราก็จะไม่มีทางที่จะมีความสุข หรือว่าเป็นอิสระจากอารมณ์พวกนี้ได้เลย
  • 2 ม.ค. 68 - ทำปีนี้ให้เป็นปีแห่งสติ : ชาวพุทธเราต้องเป็นผู้ใฝ่รู้ นอกจากรู้ทันความคิด รู้ทันอารมณ์ ว่าหรือรู้ซื่อๆ เวลามันมีความคิด มีอารมณ์เกิดขึ้นแล้ว การเรียนรู้จากสิ่งต่างๆ ที่ไม่ถูกใจ มันก็มีคุณค่า ทุกอย่างมีอะไรให้เราได้เรียนรู้อยู่เสมอ แม้จะเป็นเรื่องของอนิจจัง เรื่องอนัตตา อะไรๆ ก็ไม่เที่ยง ไม่มีอะไรที่เป็นของเราเอง หรืออย่างน้อยก็สอนใจเรา สอนให้อดทน สอนให้มีสติ อย่างเวลาหนาวๆ อย่างนี้ ถ้าวางใจไม่เป็น ก็บ่น เป็นทุกข์ แต่ถ้ามองให้ดี เขามาสอนให้เรารู้จักใช้สติในการแก้ทุกข์ที่ใจ ทำอย่างไร กายหนาว แต่ใจไม่หนาว มีสติรู้ทัน เวลาใจมันบ่น หนาวเหลือเกิน มันมีความหงุดหงิด มีความไม่พอใจ ก็นั่นแหละ เป็นการบ้านที่เอามาฝึกใจ ให้รู้ทันได้

    หรือต่อไปก็รู้เวทนาเลย ก็คือกายหนาว แต่ไม่มีผู้หนาว กายทุกข์แต่ไม่มีผู้ทุกข์ อันนี้เรียกว่าใช้ความหนาวมาเป็นอุปกรณ์สอนใจ หรือฝึกใจ หรือเอามาใช้ในการมองว่า หนาวก็ดี แมลงน้อย ไม่ชื้น ถ้าเป็นหน้าฝน ไปไหนก็เฉอะแฉะไปหมด แมลงก็เยอะ หน้าหนาวนี้ดี ไม่เฉอะแฉะ ไม่ชื้น แมลงก็น้อย สะดวกกับการปฏิบัติธรรม นี่ก็ฝึกการมองแบบโยนิโสมนสิการ ซึ่งช่วยทำให้ปลดเปลื้องความทุกข์ ความหงุดหงิด ออกไปจากใจได้ นอกจากการที่มีสติ ถือว่าเป็นตัวช่วยให้มีสติ อยู่กับปัจจุบัน หรือปล่อยวางความคิดและอารมณ์ต่างๆ ได้ดีขึ้น และถ้าฝึกอย่างนี้ เป็นประจำทุกวัน ใหม่ๆ 2-3 เดือนแรก อาจจะล้มเหลว พลาดท่าเสียที ลืมเลย แต่พอทำไปนานๆ ทำบ่อยๆ ทำทุกวัน มันจะทำได้เร็วขึ้น คล่องขึ้น รู้สึกตัวได้ไวขึ้น แล้วใจก็จะโปร่งเบา สบาย โลกรอบตัวยังไม่เปลี่ยน คนรอบข้างก็ไม่เปลี่ยน แต่ว่าใจเราเปลี่ยนแล้ว เพราะว่าฝึกสติ จนมีสติ มีความรู้สึกตัว และจนสามารถจะมองเห็นประโยชน์ของทุกสิ่ง ทำให้ยอมรับได้ หรือทำให้วางใจเป็นกลางได้ หรือทำให้ยิ้มได้ ไม่ว่าเจออะไร
  • 1 ม.ค. 68 - สุขที่ไม่ต้องอาศัยสิ่งเร้า : การที่จะได้สัมผัสความสุขจากความสงบ หรือรู้เท่าทันความสงบ ปล่อยวางทั้งความสงบและความคิดได้ ก็เลยเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าเกิดว่าเราพยายามจัดเวลา วางโทรศัพท์มือถือ ใช้มันให้น้อยลง คุยกับผู้คนให้น้อยลง อยู่กับความสงบ อยู่กับการระมัดระวังมากขึ้น มันก็ทำให้สติได้พัฒนา แล้วยิ่งมาปฏิบัติแบบเข้มข้น สติ ความรู้สึกตัวก็จะเติบโตได้เร็ว

    ถ้าเปรียบเหมือนกับโอ่ง ก็เป็นโอ่งที่น้ำเต็มเร็ว แม้จะมีการรั่วซึม แต่ว่ารั่วน้อยไหลน้อย ขณะที่เติมน้ำไปเยอะๆ อันนี้ก็ทำให้ได้สัมผัสกับความสุขที่เกิดจากความสงบ เป็นความสงบที่ไม่ใช่จากการตัดความรับรู้ แต่เป็นความสงบเพราะรู้ ซึ่งช่วยทำให้ไม่ไปหลงเพลิน หลงติดความสุขจากสิ่งเสพ
  • 31 ธ.ค. 67 - ปีใหม่มีใจเป็นมิตร มีจิตเป็นเพื่อน : ฉะนั้นปีใหม่ ถ้าจะมีอะไรที่เป็นของดีของประเสริฐที่อยู่ในวิสัยของปุถุชนอย่างเราจะทำได้ก็คือ การที่มีใจเป็นมิตรมีจิตเป็นเพื่อน เพราะถ้าเรามีใจเป็นมิตรมีจิตเป็นเพื่อนแล้ว แน่นอนปีหน้าจะเป็นปีที่ดีสำหรับเรา ไม่ใช่เพราะไม่มีความผันผวนปรวนแปร อย่าไปเข้าใจอย่างนั้น

    ถนนชีวิตนี้มันไม่ราบรื่นเหมือนถนนแปดเลน มันก็ต้องมีขรุขระ มีหลุมมีบ่อ บางทีก็อาจจะเข้ารกเข้าพง แต่ว่าถ้าเรามีใจเป็นมิตรมีจิตเป็นเพื่อนก็สามารถจะผ่านพ้นความทุกข์ ไม่ใช่แค่ผ่านอย่างเดียวแต่ว่าสามารถจะได้ประโยชน์จากทุกข์ อาศัยทุกข์ทำให้เกิดปัญญาจนพาจิตออกจากความทุกข์ได้ คนเราจะออกจากทุกข์ได้ต้องรู้จักทุกข์ แล้วเข้าใจทุกข์มากพอจะรู้ว่าเหตุแห่งทุกข์คืออะไร ต่อเมื่อรู้เหตุแห่งทุกข์แล้วจึงจะออกจากทุกข์ได้ เพราะฉะนั้นถ้าหากเรามีใจที่เป็นมิตรมีจิตเป็นเพื่อน คือใจที่มีสติ มีปัญญา รู้จักคิด รู้จักใคร่ครวญ เราก็จะแน่ใจ เป็นหลักประกันได้ว่าปีหน้าจะเป็นปีที่ดีสำหรับเรา แม้จะมีความทุกข์ก็ยังหาสุขท่ามกลางความทุกข์ได้ หรือสามารถเปลี่ยนทุกข์ให้กลายเป็นธรรม ซึ่งทำให้เกิดความสงบเย็นเป็นอิสระอย่างแท้จริง ฉะนั้นก็ขอให้พวกเราตั้งใจ ทำให้ใจของเราสามารถจะเป็นมิตรที่ประเสริฐแก่เรา ไม่ซ้ำเติมเพิ่มทุกข์ให้กับตัวเองด้วยการคิดลบ ด้วยการยึดติดถือมั่น แต่รู้จักปล่อยรู้จักวางเพราะเข้าใจความจริงของชีวิต และนี่คือสิ่งที่เราทำได้ถ้าปรารถนาให้ปีใหม่นี้เป็นปีที่ดีสำหรับเรา
  • 30 ธ.ค. 67 - ลดละคือศิลปะของชีวิต : ความสุขที่ประเสริฐ วัดกันตรงที่เราต้องพึ่งพาสิ่งต่างๆ มากเพียงใด ถ้ายังต้องพึ่งพามาก ก็ยังถือว่าเป็นความสุขชั้นต่ำ

    แต่ถ้าเป็นความสุขที่ปราณีตที่ประเสริฐ ก็จะเรียกร้องให้พึ่งพาสิ่งต่างๆ น้อยลงมากเลย เพราะว่าปล่อยวางสิ่งต่างๆ ได้มาก จนกระทั่งแทบจะไม่ต้องยึดติดถือมั่นกับอะไร ก็เป็นอิสระ และเข้าถึงความสุขได้ อันนี้แหละที่ควรจะเป็นจุดหมายที่เราควรจะวาดหวัง หรือตั้งเอาไว้ ขึ้นปีใหม่แล้ว อะไรบ้างที่เราควรจะมีให้น้อยลง แต่มีโดยมีความสุขนะ ไม่ใช่มีด้วยความก้ำกลืนฝืนทน ปีใหม่สำหรับหลายคน ต้องมีโน่นมีนี่มากขึ้น มีรถเพิ่มขึ้น มีบ้านเพิ่มขึ้น มีตำแหน่งสูงขึ้น แต่ที่จริงลองคิดว่าเราจะลดจะละอะไร อันนี้เป็นสิ่งที่ท้าทาย และจะทำให้ปีใหม่นี้ กลายเป็นปีที่นำไปสู่ความเจริญงอกงามทางจิตใจอย่างแท้จริง
  • 29 ธ.ค. 67 - ทุกความทุกข์เยียวยาใจได้ : เวลาโกรธทีไรเมื่อถูกด่าถูกต่อว่า มันก็สามารถจะนำพาเราให้ไปเห็นรากเหง้าที่เป็นตัวการที่แท้ แล้วเมื่อเราเห็นแล้ว หน้าที่ต่อไปคือการรื้อถอน ขุดมันออกมา เวลาเศร้าเสียใจเพราะเงินหาย มันก็ชี้ให้เห็นถึงความยึดติดในทรัพย์ ความยึดติดในทรัพย์

    เหล่านี้ก็คือเป็นการบ้านที่เราจะต้องรื้อถอนมันออก และสุดท้ายเมื่อเรารื้อถอน พยายามรื้อถอนไป เราก็พบว่าเป็นเพราะความยึดมั่นถือมั่น อยากให้มันเที่ยง อยากให้มันคงตัว ถ้าไม่ยึดมั่นอยากให้มันเที่ยงอยากให้มันเป็นสุข มันจะแปรเปลี่ยนไปอย่างไร ใจเราก็ไม่ทุกข์ นี่แหละคือตัวการหรือสัญญาณที่ชี้ให้เราเห็นถึงเหตุแห่งทุกข์ และทำให้เราจัดการรื้อถอนเหตุแห่งทุกข์ได้ เพราะฉะนั้นเวลาเราเจออะไรก็ตาม อย่าเสียเวลาบ่นว่า ทำไมถึงเกิดขึ้นกับเรา แต่ลองใคร่ครวญดูว่า จะใช้มันให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไรโดยเฉพาะในทางธรรม
  • 28 ธ.ค. 67 - ภัยที่ควรอยู่ห่าง : การที่เราจะครองตัวให้เป็นปกติ หรือให้มีความสุขความเจริญ การไม่ประมาทนี้สำคัญ อย่าไปคิดว่ากูแน่กูแน่ หรือประมาทความชั่ว เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่พอทำไปแล้ว มันก็ถลำหนักขึ้นเรื่อยๆ ที่พระพุทธเจ้าสอนเรื่องศีล เรื่องธรรม เรื่องสตินี่ สำคัญมาก โดยเฉพาะเรื่องความไม่ประมาท เพราะว่าถ้าประมาทเมื่อไหร่ ประมาทในความหมายที่ว่า สิ่งที่ทำเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่มีอะไร เอาอยู่ กินเหล้าแค่นี้เอง ไม่เป็นไร หรือว่าเล่นเกมเท่านี้เอง ไม่เป็นไร หรือทุจริตเท่านี้เอง ไม่เป็นไร ใครๆ เขาก็ทำกัน แต่กว่าจะรู้ตัวเข้า ถอนตัวไม่ขึ้นแล้ว

    เหมือนกับฮัลสเต็ดเล่นโคเคน ทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำเพื่อความสนุกสนาน แต่ว่ามันค่อยๆ ซึมเข้าไปทั่วร่างและทั้งตัว ทั้งจิตทั้งใจเลย ทั้งสมองด้วย เขาบอก กว่าจะรู้ตัว เขาก็สายไปแล้ว เลิกไม่ได้ ทั้งๆ ที่จิตใจก็เข้มแข็ง แต่แน่นอนนะ บางคนเขาอาจจะคิดว่า เขามีความสามารถในการที่จะเลิกได้ เพราะเขามีจิตใจที่เข้มแข็ง อย่างนี้ก็มี อันนี้ก็ต้องให้ความหวังกับคนที่เผลอติดไปแล้ว ว่ากำลังใจนี่ก็สำคัญ แต่ว่ากำลังใจยังไม่พอ ต้องอาศัยสิ่งแวดล้อมด้วย ถ้าสิ่งแวดล้อมมันเป็นใจ กำลังใจเข้มแข็งแค่ไหน ก็พ่ายแพ้ แล้วก็อย่าไปคิดนะว่า มันจะมีคำตอบที่ง่าย อย่างฮัลสเต็ด เขาคิดว่า จะเลิกโคเคนได้ ก็เอามอร์ฟีนมาแทน มอร์ฟีนทำให้เลิกได้ก็จริง แต่ก็กลายเป็นติดมอร์ฟีน ตอนหลังจะเลิกมอร์ฟีน ก็ใช้เฮโรอีน เฮโรอีนทำให้เลิกมอร์ฟีนได้ แต่ปรากฏว่าคนก็ติดเฮโรอีน แล้วตอนหลัง ก็มียาตัวใหม่ๆ ทำให้เลิกเฮโรอีนได้ แต่ก็ไปติดยาตัวนั้นแทน เทคโนโลยีมันทำให้คำตอบชั่วคราว มันแก้ปัญหาเก่า แต่มันก็สร้างปัญหาใหม่ สุดท้ายก็ต้องแก้กันที่ใจ แก้กันที่พฤติกรรม อันนี้ก็เป็นอุทาหรณ์ว่า เราต้องตระหนัก ว่ามันมีภัยบางอย่าง ที่อยู่ห่างมันเป็นดีที่สุด ไปแหยมไปลอง ก็อาจจะพลาดท่าเสียทีได้