Afleveringen
-
17 ต.ค. 67 - ทุกประสบการณ์เป็นบทเรียนให้เรา : มีความผิดพลาดอะไร ที่เราได้ทำ มีความบกพร่องตรงไหน ก็ควรจะมองเห็น รับรู้ยอมรับ แม้ว่าตัวมานะหรืออัตตาเราจะไม่อยากยอมรับ แต่ถ้าเราเห็น แล้วก็ยอมรับมัน มันก็เอามาเป็นบทเรียนได้ เอามาเป็นเครื่องเตือนใจเราได้ อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนชอบพูดอยู่เสมอ คนเรามันต้องผิดก่อน มันถึงจะถูกได้ เราต้องโง่ก่อน จึงจะฉลาด
ถ้าหากว่าเราเคยทำผิดทำพลาด มันก็เป็นเรื่องธรรมดา เอามาเป็นบทเรียนเตือนใจ ให้เราทำถูก อะไรที่เราหลงก็เอามาเป็นบทเรียน เพื่อให้เราทำให้เกิดรู้ขึ้นมา ความโง่ของเราก็เอามาเป็นเครื่องเตือนใจให้ฉลาด อันนี้ก็ทำให้วันเข้าพรรษา และการปฏิบัติของเรามีคุณค่า เพราะว่าทุกอย่างมีประโยชน์ทั้งนั้น ไม่ว่าสิ่งดี ๆ ที่เราทำ หรือว่าสิ่งบกพร่องที่เราได้เผลอทำ มันก็มีคุณค่าต่อการพัฒนาชีวิตของเราให้เจริญงอกงาม -
16 ต.ค. 67 - ชีวิตไปต่อได้ ถ้ารู้จักหยุด : ทุกวันนี้เราคิดถึงเรื่องการไปข้างหน้า แต่เราไม่ค่อยเห็นคุณค่าของการหยุดการชะลอเท่าไหร่ ถ้าเรารู้จักพอ เราก็จะหยุด เราก็จะชะลอได้ หรือถ้าเรารู้จักยอมรับความสูญเสีย เงินที่สูญเสียไปจากการพนันก็ดี จากการเล่นหุ้นก็ดี หรือจากน้ำท่วมก็ดี หรือว่าจากธุรกิจที่ขาดทุนก็ดี
ถ้าเรารู้จักหยุด มันก็ไม่ผลักให้เราสร้างปัญหากับตัวเอง เพราะว่าแมงเม่าจำนวนมาก เวลาเขาสูญเสียเงินแล้วเขาทำใจไม่ได้ เขาก็พยายามหาทางที่จะเอาเงินคืน หรือแก้คืนให้ได้ แต่สุดท้ายก็ยิ่งสูญเสียมากขึ้น การหยุดอาจจะไม่ได้ทำให้เราได้ของที่เสียไปคืน แต่ทำให้เราไม่สูญเสียมากไปกว่านั้น เช่น เวลาเงินหาย ถ้าเราไม่รู้จักหยุดเศร้าโศก ไม่รู้จักหยุดครุ่นคิดถึงมัน เราจะไม่ได้เสียแต่ทรัพย์ เราก็จะเสียสุขภาพ เสียความสุข เสียสุขภาพจิต และเสียอีกหลายอย่าง ถ้าเรารู้จักยอมรับความสูญเสียที่เกิดขึ้น เราก็จะเสียแค่หนึ่ง เราจะไม่เสียสองเสียสาม เพราะว่าเรายอมรับได้ ยอมรับความสูญเสีย หรือรู้จักหยุด -
Zijn er afleveringen die ontbreken?
-
15 ต.ค. 67 - ฝึกใจให้มั่นคงเหมือนหินผา : ถ้าเราไม่มีความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่างๆ เมื่อสิ่งนั้นมันแปรเปลี่ยนไป เงินทองถูกลักขโมย ร่างกายเกิดเจ็บป่วย หรือว่าเกิดแก่ชรา หรือคนรักล้มหายตายจากไป เราก็ไม่ทุกข์ หลายคนไปคิดว่าทุกข์เพราะเงินหาย ทุกข์เพราะเจ็บป่วย ทุกข์เพราะคนรักตายจากไป ที่จริงไม่ใช่ ที่มันทุกข์เพราะไปยึดว่าสิ่งเหล่านั้น คนเหล่านั้นว่าเที่ยง ว่าเป็นของเรา อันนี้เรียกว่าไม่รู้ความจริง เป็นความหลงชนิดหนึ่ง ซึ่งจะแก้ได้ก็ต้องมีปัญญา ปัญญาทำให้รู้ความจริง
ส่วนความหลงอีกอย่างหนึ่งคือไม่รู้ตัว ก็เลยไปยึดเอาอารมณ์ที่มันเป็นลบ อย่างที่เปรียบเทียบว่าไปหยิบเอาเศษแก้วเศษตะปูมาทิ่มแทงตัวเอง ไปหยิบเอาขยะมาสุมกองในบ้านตัวเอง นี้เรียกว่าไม่รู้ตัว ขาดสติ ถ้าเรารู้ตัวมีสติ ถ้าเรารู้ความจริงเพราะมีปัญญา อะไรเลวร้ายเกิดขึ้นกับเรา กับร่างกายของเรา กับทรัพย์สินของเรา กับคนรักของเรา มันก็ไม่ทุกข์ แม้กระทั่งคำว่าของเรา สุดท้ายมันก็ไม่มี ก็รู้ว่ามันไม่ใช่ของเราเลย เพราะฉะนั้นแม้จะมีโลกธรรรมฝ่ายลบเกิดขึ้น มีความสูญเสียพลัดพรากเกิดขึ้น จิตใจก็ยังเป็นปกติได้ นี้เรียกว่าเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้ใจมั่นคงเข้มแข็งเหมือนกับหินผาที่คลื่นจะซัดสาดยังไง หินผาก็ยังสงบนิ่ง ไม่ขยับเขยื้อน มีแต่คลื่นที่แตกกระจายไป เพราะฉะนั้นถ้าเราฝึกใจแบบนี้ มันจะช่วยลดความทุกข์ไปได้เยอะ มีทุกข์กายก็จริงแต่ใจไม่ทุกข์ เสียทรัพย์แต่ว่าใจไม่เสีย แล้วมันทำให้เราสามารถจะเข้าถึงสิ่งที่ทางพุทธศาสนาเรียกว่า เป็นมงคลสูงสุด คือเมื่อโลกธรรมถูกต้องแล้ว จิตก็ไม่หวั่นไหวใจก็ไม่กระเพื่อม สงบนิ่งมั่นคงอยู่ได้ -
14 ต.ค. 67 - ฝึกตนจนพ้นตัวตน : บางคนยึดมั่นกับคำสอนของพระพุทธเจ้าเรื่องอนัตตา ที่ว่าไม่มีตัว ไม่มีตน พอเห็นคำสอนเรื่องว่า เราทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เขาก็บอกว่าไม่ใช่พระพุทธพจน์นะ พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอย่างนี้ เพราะพระพุทธเจ้าสอนทุกอย่างเป็นอนัตตา อ้างว่าคำประโยคนี้มันไม่ใช่พุทธภาษิต
แต่ที่จริงเป็นพุทธภาษิต เราทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน แต่ว่าเป็นคำสอนที่สำหรับคนที่ยังมีความเชื่อเรื่องตัวตนอยู่ ก็ให้รู้ว่าถ้าหากว่าอยากจะให้ตัวเราดีก็ต้องทำกรรมดี ไม่อยากให้ตัวเราเดือดร้อนก็ต้องเว้นความชั่ว เว้นกรรมชั่ว แต่ถ้าเข้าใจเรื่องอนัตตาอย่างแท้จริงแล้ว ก็จะทำดี เว้นความชั่วไปเอง โดยที่ไม่ได้ทำเพราะความยึดมั่นถือมั่นในอัตตา ไม่ได้รู้สึกว่าการทำความดีเป็นเครื่องรัดรึง หรือว่าไม่รู้สึกว่าถูกตีกรอบ หรือถูกล้อมคอกอีกต่อไป ฉะนั้นให้เราทำความเข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งอาจารย์พุทธทาสสรุปไว้ได้ดีมาก สำหรับสัตว์โลกที่อ่อน พระพุทธเจ้าทรงขังคอกเอาไว้ แต่สำหรับสัตว์โลกที่แก่กล้า พระองค์ทรงชี้ทางให้บินไป อันนี้เป็นสิ่งที่พึงระลึกอยู่เสมอเวลาเราปฏิบัติธรรม ต้องถามตัวเองว่าเราอยู่ในขั้นไหน เป็นสัตว์โลกที่ยังอ่อนอยู่ หรือเป็นสัตว์โลกที่แก่กล้าแล้ว -
13 ต.ค. 67- ปลอดภัยเมื่อมีสติเป็นเพื่อนใจ : รู้ซื่อ ๆ ก็คือว่า ต่างคนต่างอยู่ ไม่ขับไสไล่ส่ง ไม่โรมรันพันตู ซึ่งมันก็เริ่มต้นจากการที่อนุญาตให้สิ่งเหล่านี้มาอยู่ หรืออนุญาตให้สิ่งเหล่านี้มา จะมาก็มา อนุญาตให้ตัวเองเศร้าได้ อนุญาตให้ตัวเองโกรธได้ อนุญาตให้ตัวเองวิตกกังวลได้ อนุญาตให้ตัวเองรู้สึกซังกะตายหรือรู้สึกเฉา ไม่ผลักไสไล่ส่ง แต่ว่าต่างคนต่างอยู่
นี้เป็นอานิสงส์ของสติ และถ้าสติเราแก่กล้า เข้มแข็งมากพอ อารมณ์พวกนี้ก็จะค่อย ๆ ล่าถอยไปเอง เพราะว่ากุศลธรรมจะมาช่วยปัดเป่าสิ่งเหล่านั้นออกไป เหมือนกับน้ำเสีย เราไม่ต้องเสียเวลาดูดเอาน้ำเสียออก ไม่ต้องวิด ไม่ต้องสูบ แค่ปล่อยน้ำดีเข้าไป มันก็จะไปไล่น้ำเสียออกไป น้ำดีนั้นคืออะไร ก็คือกุศลธรรมซึ่งเกิดจากการชักนำของสติ แล้วสุดท้ายสติก็จะช่วยทำให้เราปลอดภัย จึงเป็นเพื่อนใจที่ดีมาก ทำให้เรามีใจเป็นมิตร มีจิตเป็นเพื่อน แทนที่ใจจะกลับมาซ้ำเติมสร้างความทุกข์ให้กับเรา แทนที่ใจจะมีแต่จะปั่นหัวเราให้เศร้าโศก โกรธแค้น หรือทำให้คิดลบคิดร้าย กลับทำให้จิตใจเราสงบเย็น เป็นอานิสงส์ของสติ เพราะฉะนั้นถึงแม้เราจะมีเพื่อนนอกมากแค่ไหนก็ตาม หรือไม่มีเลย แต่เราจะปลอดภัยได้ ถ้าเรามีเพื่อนใจคือสติ -
12 ต.ค. 67 - ปาฎิหาริย์ในธรรมดาสามัญ : สำหรับผู้ที่มีปัญญา ธรรมะมีอยู่ทุกหย่อมหญ้า ธรรมะที่ว่าหมายถึงธรรมะไม่ใช่แค่คุณธรรมความดีหรือจริยธรรมเท่านั้น แต่หมายถึงสัจธรรม ไม่ใช่สัจธรรมระดับโลกิยะ แต่สัจธรรมระดับโลกุตระ ที่ทำให้พ้นทุกข์ ทำให้เห็นว่าไม่มีอะไรที่ยึดมั่นถือมั่นได้เลย ทำให้เห็นว่าไม่มีอะไรที่ใช่ตัวใช่ตน ทั้งหมดนี้ก็เริ่มต้นจากการที่ทำอะไรด้วยความรู้เนื้อรู้ตัว ไม่ให้ใจถูกความหลงครอบงำ
เมื่อรู้ตัวจนกระทั่งตัวกูไม่ปรากฏ ต่อไปมันก็จะรู้ความจริง จนดับความยึดมั่นถือมั่นในตัวกูได้ ทุกครั้งที่เรามีความรู้สึกตัว ตัวกูมันไม่มีโอกาสจะเกิดเพราะว่ามันเกิดได้ในยามที่เราหลง หรือในยามที่ความหลงครองใจ หลงเมื่อไหร่ก็ปรุงตัวกูขึ้นมา แล้วเกิดความสำคัญมั่นหมายในตัวกู ของกู กูเดิน กูโกรธ กูเศร้า กูดีใจ เป็นเพราะหลงทั้งนั้นแหละ แต่พอรู้ตัว รู้เนื้อรู้ตัว ความหลงหายไป ตัวกูก็ดับไปด้วย แต่มันก็ดับไปชั่วคราวเพราะคนเรารู้ตัวได้ประเดี๋ยวประด๋าวเดี๋ยวก็หลงอีกแล้ว นี้คือเหตุผลที่เรามาภาวนา มาเจริญสติ เพื่อให้มีความรู้สึกตัวต่อเนื่อง เมื่อรู้ตัวต่อเนื่อง ต่อไปมันจะไม่ใช่แค่รู้ตัวแต่มันจะรู้ความจริง จนกระทั่งตัวกูไม่มีที่ตั้ง กิเลสเกิดขึ้นไม่ได้ และนี่ก็คือเรียกว่าความพ้นทุกข์ที่เราจัดว่าเป็นสุดยอดปาฏิหาริย์ -
9 ต.ค. 67 - ไม่กลัวผิดจึงทำถูก : สติจะพัฒนาได้ มันก็ต้องผ่านการฟุ้ง ผ่านการหลง หลวงพ่อเทียนท่านพูดว่า ยิ่งคิดก็ยิ่งรู้ คิดในที่นี้คือ คิดฟุ้งซ่าน หรือคิดโดยไม่ตั้งใจคิด ยิ่งมันเผลอคิดมากเท่าไรก็ยิ่งรู้ รู้ในที่นี้คือรู้ตัว คือรู้ทันความคิด แล้วเวลาเรามาปฏิบัติธรรม เราต้องทิ้งความเคยชินเดิม ๆ ประเภทว่าเป็นนักเรียนหน้าห้อง กลัวผิด กลัวตอบครูผิด หรือว่ากลัวสอบไม่ได้ร้อย เพราะว่าเดี๋ยวพ่อแม่จะไม่รัก หรือว่าจะไม่ได้เป็นที่ยอมรับของคนอื่น รวมทั้งไม่เป็นที่ยอมรับของตัวเอง
ต้องหลุดออกจากทัศนคติแบบนี้ให้ได้ เรียกว่าโถมไปเลย มันจะผิดมันจะพลาดอย่างไร ไม่เป็นไร เพราะเราสามารถจะเรียนรู้จากความผิดความพลาดได้ เหมือนกับที่เด็กๆ เรียนรู้วิธีการเดินได้ ก็ต้องมาจากการล้มบ่อยๆ ถ้าพ่อแม่กลัวเด็กล้ม คอยจับ คอยประคองลูกตลอดเวลา ไม่ยอมให้ลูกเดินด้วยตัวเอง ลูกก็จะไม่มีทางเดินเป็น ที่พวกเราเดินเป็นได้ตั้งแต่เด็ก เพราะว่าเราไม่กลัวผิด ไม่กลัวล้ม ไม่ใช่ว่าไม่ล้ม ล้มแต่ก็รู้แล้วก็เดินต่อไป จนกระทั่งรู้วิธีที่จะทรงตัว ตอนหลังไม่ใช่แค่เดินได้อย่างเดียว วิ่งได้ด้วย ให้เราเอาทัศนคติแบบนี้มาใช้กับการปฏิบัติ เพราะว่าในแง่หนึ่ง ในทางธรรมก็เหมือนกับเรากำลังตั้งไข่ เพราะฉะนั้นมันก็ย่อมเป็นธรรมดาที่จะล้ม เราปฏิบัติไป หลง 95 เปอร์เซนต์ หรือ 99 เปอร์เซนต์ ก็ได้ แต่ก็ช่างมัน ไม่เป็นไร ทำไปเรื่อย ๆ ไม่กลัวล้ม ไม่กลัวหลง แต่ขอให้ทำอยู่เรื่อย ๆ แล้วจะดีขึ้นเรื่อย ๆ -
7 ต.ค. 67 - เหนือได้ เหนือเสีย : สำหรับคนที่ไม่ได้สนใจธรรมะ ไม่ได้สนใจการฝึกจิต ก็จะปล่อยใจหลงวนอยู่กับการเปรียบเทียบ ได้มาก เสียน้อย แต่ถ้าเขามองว่าความคิดแบบนี้ทำให้ทุกข์ ลองคิดถึงเรื่องของการเสียสละแบ่งปันดู มีมุทิตาจิต ให้กับนักการภารโรง พยาบาล เภสัชที่เขามีรายได้น้อยกว่าเรา แต่ว่าเขาได้ส่วนแบ่งจากเงินก้อนนี้มากกว่าเรา ก็ดีแล้ว
ถ้ามีความเป็นมิตร เป็นเพื่อน มันก็ไม่ถือสา ก็ไม่ได้หวงแหน จิตที่คิดจะเอามันก็จะไม่มาครองจิตครองใจ แล้วมีจิตที่คิดจะให้มันมาแทนที่ อันนั้นเป็นเรื่องของคนที่เขาอาจจะไม่ได้สนใจเรื่องการปฏิบัติธรรมเท่าไหร่ แต่ถ้าสนใจเรื่องการปฏิบัติธรรมอย่างน้อยก็ต้องเห็น เห็นตัวกิเลส กิเลสที่มันอยากได้ อยากได้มากกว่าคนอื่น หรือว่าอยากเด่นกว่าคนอื่น ข้อดีของคนที่ปฏิบัติธรรมคือ มันมีสิ่งนี้ มีธรรมะที่จะช่วยทำให้จิตใจอยู่เหนือการได้การเสีย อยู่เหนือการเปรียบเทียบ แล้วถ้าอยู่เหนือการได้การเสีย อยู่เหนือการได้มากได้น้อย อยู่เหนือการเปรียบเทียบ มันก็จะมีความสุขง่าย ใครเขาจะได้มากก็ไม่ทุกข์อะไร เพราะเราก็พอใจสิ่งที่มี หรือเราไม่ปล่อยให้ตัวตัณหาหรือมานะครอบงำใจ -
6 ต.ค. 67 - ทุกข์แก้ได้ที่ใจเรา : ถ้าหากว่าเราไม่ดูแลใจปล่อยให้กิเลส ปล่อยให้อารมณ์อกุศลเข้ามาครอบงำใจ เราจะไปโทษคนอื่นไม่ได้ เราก็ต้องรับผิดชอบที่ประมาทเลินเล่อไม่ดูแลใจของเรา ในทางธรรมเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นจะไปโทษคนนั้นคนนี้ว่ามาทำให้เราเป็นทุกข์ ก็ไม่ได้ เพราะว่าเราไม่ได้ดูแลใจของเราอย่างเพียงพอ เหมือนกับชายคนนั้นที่ไม่ได้ดูแลรถให้ดี
อันนี้เป็นข้อคิดที่ดี ถ้าหากว่าเราดูแลใจให้ดี ไม่ว่ามีอะไรเกิดขึ้นมันก็ เราก็จะไม่ทุกข์ง่าย ๆ และการดูแลใจคือ การที่มีสติรักษาใจ รวมทั้งความตระหนักว่า สมุทัย เหตุแห่งทุกข์นั้น โดยเฉพาะถ้าเป็นทุกข์ใจ มันอยู่ที่ใจของเรา อยู่ที่การวางใจของเรา ดังนั้นแม้สิ่งภายนอกสิ่งรอบตัวจะเหมือนเดิมแต่เราก็ยังสามารถแก้ทุกข์ได้ ด้วยการดูแลใจของเราให้ดี นี้แหละการปฏิบัติธรรม การเจริญสติมีความสำคัญก็ตรงนี้ เพราะมันทำให้เราเห็นว่าไม่ใช่แค่มีทุกข์เกิดขึ้นก็รู้ รู้ว่าทุกข์กายและรู้ว่าทุกข์ใจ ยังรู้ต่อไปว่าเหตุแห่งทุกข์มันอยู่ที่ใจของเรา แล้วไม่จำเป็นต้องไปเรียกร้องคนอื่นให้เปลี่ยนแปลง แค่ปรับแก้ที่ใจของเรา ความทุกข์ที่ใจเราก็จะลดลง -
5 ต.ค. 67 - สงบได้เมื่อใจมีสติ : ถ้าเราทำจริงจัง เราจะกระฟัดกระเฟียดมาก เหมือนพวกนักกีฬาแข่งขันรอบตัดเชือก หรือว่าแข่งขันชิงชนะเลิศเอาเหรียญทองโอลิมปิค พวกนี้จะเครียดมาก เพราะว่ามุ่งเน้นที่ความสำเร็จ เน้นคุณภาพ
แต่ถ้าเราจะทำ เราก็ทำแบบทำเล่นๆ หลงบ้าง ฟุ้งบ้าง ลืมบ้าง ไม่เป็นไร แต่ว่าทำเรื่อยๆ ทำบ่อยๆ ทำเยอะๆ ทำทั้งวัน แล้วสติมันก็จะทำงานได้เร็วขึ้น ระลึกหรือรู้ตัวได้เร็วขึ้น แล้วเราก็จะเห็น ต่อไปความคิดพอมันมา แล้วมันก็ไป ไม่ใช่มันไปเอง แต่เป็นเพราะมีสติมาช่วย เพราะฉะนั้น ลองฝึกเอาไว้ ฝึกไปเรื่อยๆ อย่าไปบังคับจิต ทำเล่นๆ ไป แต่ทำเรื่อยๆ แล้วเราจะเห็น เราจะรู้ทันความคิด รู้ทันอารมณ์ และต่อไปเวลาอารมณ์ใดเกิดขึ้น ความคิดฟุ้งซ่านใดเกิดขึ้น เราก็จะรู้ทันมันได้เร็ว แล้วเป็นอิสระจากมันได้ง่าย -
4 ต.ค. 67 - ดูแลใจ ห่วงใยผู้อื่น : ทีนี้ถ้าเราดูแลใจดีๆ เราจะไม่ซ้ำเติมเพิ่มทุกข์ให้กับใจ ในลักษณะที่ว่าไม่ว่าจะเป็นการคิดปรุงแต่งในเรื่องอนาคตที่ยังไม่เกิด หรือว่าผลักไสสิ่งที่กำลังประสบรับรู้อยู่ในปัจจุบัน แล้วถ้าเราดูแลใจดีๆ มันไม่ใช่แค่หยุดซ้ำเติมเพิ่มทุกข์ให้กับใจ แต่ยังรู้จักวิธีป้องกันไม่ให้ความทุกข์มาครอบงำใจด้วย
อะไรที่จะช่วยให้ใจเราไม่ถูกความทุกข์ครอบงำก็คือสติ อารมณ์ ความโกรธ ความเศร้า พวกนี้เกิดขึ้นได้ เพราะเผลอไปแล้ว เผลอคิดไปแล้ว แต่ก็ยังมีกำแพงอีกชั้นหนึ่ง คือสติ ที่จะช่วยไม่ให้ความทุกข์เหล่านั้นมาครอบงำใจ แล้วถ้าสติเราทำงานดีๆ ต่อไปเราก็ยังสามารถจะเติมสุขให้ใจได้ด้วย สติมันช่วยเติมสุขให้ใจ ทำให้เราพบความสงบเย็นภายใน และทำให้เรามีกำลังในการช่วยเหลือผู้อื่น ถ้าเรารู้จักเติมสุขให้ใจ เรามีความสุข เราก็สามารถที่จะให้ความรัก ความเมตตา ความห่วงใย กับคนอื่นได้ รวมทั้งกับผู้ป่วย เพราะฉะนั้น การดูแลใจ กับการห่วงใยผู้อื่นนี่ มันไปด้วยกัน ฉะนั้นถ้าเราดูแลใจดีๆ เราก็จะห่วงใย ช่วยเหลือผู้อื่นได้ดี ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วย หรือคนใกล้ตัว แต่ถ้าเราไม่ดูแลใจให้เป็น เราจะไม่รู้วิธีที่จะให้ความช่วยเหลือกับคนที่กำลังทุกข์ยากอย่างไร หรือถึงมี ถึงรู้ แต่ก็จะหมดเรี่ยวหมดแรงไปในที่สุด -
3 ต.ค. 67 - ขับพิษออกจากใจบ้าง : เวลาพูด สติกับความรู้สึกตัว พูดคู่กัน อันนี้เป็นเรื่องที่ใครที่ปฏิบัติก็จะเข้าใจ เพราะว่าเราจะรู้สึกตัวได้ เราต้องมีสติ มีสติจนกระทั่งจิตมันหลุดออกจากอดีต ไม่ไหลไปอนาคต จิตไม่ส่งออกนอก จิตก็กลับมารู้เนื้อรู้ตัว พอจิตกลับมารู้เนื้อรู้ตัว ก็เกิดความรู้สึกตัวขึ้นมา พูดอีกอย่างก็คือว่า สติเป็นอาหารให้กับความรู้สึกตัว หรือว่าเป็นตัวหล่อเลี้ยงความรู้สึกตัว เพราะฉะนั้นจึงพูดว่า สติและความรู้สึกตัว คู่กันไป
นอกจากการที่ไม่ไปรับรู้อารมณ์ รู้จักวิรัช วิรัชคือลดละการเสพอารมณ์ เสพสิ่งเร้า โดยเฉพาะทางโทรศัพท์มือถือ ทางอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ การที่เรามาเจริญสติ ฝึกสติ มันจะทำให้การขับถ่ายอารมณ์ที่เป็นพิษ หรือพูดรวมๆ ก็คือ ขับถ่ายความทุกข์ออกไปจากใจของเรา และถ้าเราทำเป็นอาจิณ ทำเป็นประจำ จิตใจของเราจะโปร่งเบา ซึ่งก็ส่งผลทำให้สุขภาพกายของเราดีขึ้นด้วย เพราะว่าความเครียด ความโกรธ ความวิตกกังวล มันทำร้ายทั้งใจ แล้วก็ร่างกายของเรามาก ฉะนั้น เวลาพูดถึงการดีท็อก อย่าคิดหรืออย่านึกถึงแต่การขับพิษออกจากร่างกาย ให้นึกถึงการขับพิษออกจากจิตใจ ด้วยการงดเสพสิ่งเร้า แล้วก็ด้วยการเจริญสติอยู่เป็นนิจ -
2 ต.ค. 67 - อบอุ่นใจเมื่อได้กลับบ้าน : พอใจกลับมารู้เนื้อรู้ตัวเมื่อไหร่ ความทุกข์ที่เกิดจากการหลงใหล หลงไปจมอยู่กับอดีต หรือลอยไปอนาคต หรือถลำเข้าไปในอารมณ์ มันหมดไป มีความสบาย ก็จะพอใจ เหมือนกับวัยรุ่น ถ้าหากว่าพ่อแม่ไม่บังคับให้ลูกต้องอยู่บ้าน ลูกจะอยู่จะไปก็ได้ แต่พอลูกวัยรุ่นไปสักพัก ก็รู้สึกว่าที่ไปท่องเที่ยวระเหเร่ มันก็สนุก แต่มันเหนื่อยล้า มันไม่ใช่ เขาก็จะกลับมาที่บ้าน
ใจเราก็เหมือนกัน ถ้าหากว่าได้สัมผัสความรู้เนื้อรู้ตัว รู้จักอยู่กับเนื้อกับตัว เอากายเป็นบ้าน พอระเหเร่ร่อนไปกับอารมณ์ รู้สึกเหนื่อย รู้สึกล้า พอกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว กลับมารู้สึกตัวสบาย ก็อยากจะกลับมา นี่แหละเป็นวิธีที่ช่วยให้ใจพอใจกับการอยู่บ้านได้เรื่อยๆ แล้วก็จะพบสิ่งดีๆ ที่มาพร้อมความรู้สึกตัว แต่ก่อนความรู้สึกตัวเกิดขึ้นได้เมื่อใจมาอยู่กับกาย อยู่กับเนื้อกับตัว แต่ตอนหลังก็พบว่า แค่อยู่กับปัจจุบันนั่นแหละคือบ้านที่อำนวยให้เกิดความรู้สึกตัวขึ้นมา คนเราถ้ามีบ้านแบบนี้ ถ้าจิตใจได้รู้จักบ้านแบบนี้ ก็จะมีที่พึ่ง เป็นที่พึ่งอันเกษม เพราะสามารถที่จะทำให้ความทุกข์ต่างๆ ที่เคยบีบคั้นใจ บรรเทาเบาบาง หรือทำให้จิตหลุดออกจากความทุกข์ได้ เริ่มจากความรู้สึกตัว แล้วก็นำไปสู่ภาวะอื่นที่ตามมา โดยเฉพาะภาวะที่หลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่น เพราะว่ามีปัญญาเข้าใจความจริงของกายและใจว่า มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ฉะนั้นความรู้สึกตัวเป็นบ้านที่เราต้องทำความคุ้นเคยให้มากๆ เวลาเราทุกข์ ก็ให้รู้ว่าเป็นเพราะเราห่างไกลจากบ้านชนิดนี้ เพราะตอนนั้นใจเรามันเป็นจิตจรจัดหรือไร้บ้าน จึงมีความทุกข์ เมื่อใดกลับมาบ้าน กลับมาอยู่กับความรู้เนื้อรู้ตัว ก็จะมีความอบอุ่นใจขึ้นมา -
1 ต.ค. 678 - ปล่อยให้ความทุกข์ผ่านไป : สติช่วยทำให้ปล่อยวางสิ่งที่ทำความทุกข์ให้กับเราลงจากใจได้ง่าย มีความโกรธ มีความแค้น มีความหงุดหงิด ถ้ามีสติเห็นมันแล้ว ก็วางมันลง อาจจะไม่ได้ยึดมันตั้งแต่แรกด้วยซ้ำ คือปล่อยให้มันผ่านเลยไป หรือแม้จะเคยยึดไปแล้ว พอมีสติก็วาง คนที่โกรธ พอได้สติ พอรู้สึกตัว จะหายโกรธเลย บางคนที่มีความรู้สึกผิดติดค้างใจมาหลายปี พอได้สติเผชิญหน้ากับมัน ก็ปล่อยวางมันลงได้ แต่ก่อนนี้เอาแต่ผลักไสกดข่ม มันก็ยิ่งฝังแน่นในใจ แต่พอใช้สติ เผชิญหน้ากับมัน หรืออย่างที่ครูบาอาจารย์เรียกว่ารู้ซื่อ ๆ การปล่อยการวางอารมณ์เหล่านั้นก็เกิดขึ้น
พอปล่อยวางอารมณ์ที่เป็นทุกข์ได้ ต่อไปอารมณ์ที่เป็นสุขก็จะปล่อยวางได้ง่ายขึ้น แต่การปล่อยวางนี้อาจจะไม่ได้เกิดจากสติอย่างเดียว เกิดจากปัญญาด้วย ปัญญาคือเห็นว่า สิ่งทั้งปวงนี้ไม่เที่ยง ไม่มีอะไรที่ยึดมั่นถือมั่นได้ ไม่มีอะไรที่ยึดว่าเป็นเรา เป็นของเรา ซึ่งก็ต้องอาศัยปัญญา พอมีปัญญาเห็นแจ่มแจ้ง สิ่งที่เคยให้ความสุขกับเรา แล้วก็หลงยึดว่าเป็นของเรา มันก็จะวาง เมื่อถึงตอนนั้น วางได้แล้ว เมื่อถึงเวลาที่มันเสื่อมไปเสียไป ใจก็ไม่ทุกข์แล้ว รวมทั้งการยึดในหน้าตา ยึดในภาพลักษณ์ ยึดในตัวกู จนกระทั่งเวลามีใครมากระทบก็เกิดความโกรธเพราะยึดถือในหน้าตา ยึดถือในภาพลักษณ์ ยึดถือในตัวกู พอไม่ยึดถือ พอปล่อยวางมันลง อะไรมากระทบ ก็ไม่ทุกข์ -
30 ก.ย. 67 - ใจที่มีสติรักษาย่อมปลอดภัย : ก็เป็นเพราะไม่เข้าใจคำว่า “หนอ” นั้นไม่ใช่เป็นคำบริกรรม ไม่ใช่คาถา แต่เป็นการเตือนให้เรารู้จักวางใจเป็นกลางต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่มีความรังเกียจ ไม่มีความโกรธ ไม่มีความหงุดหงิด เหมือนกับที่หมอพูดกับเบอร์แปลก ๆ ที่โทรมาว่า “แก๊งคอลเซ็นเตอร์หรือคะ” ไม่ได้มีน้ำเสียงเหยียดหยัน ไม่ได้มีน้ำเสียงรังเกียจเลย แค่พูดธรรมดาเท่านี้ เขาก็ไปแล้ว หรือเขาบางคนอาจจะบอกยอมรับความจริงว่า “ใช่ค่ะ เจอบ่อยหรือคะ” ซึ่งเขาก็มีปฏิภาณเหมือนกัน ขณะที่บางคนอ้ำ ๆ อึ้ง ๆ แล้ววางหูไปเลย หรือบางคนก็มีไม่พอใจบ้างก็พูด “คอลเซ็นเตอร์แล้วไงฮะ” แต่ก็วางหูในที่สุด
ไม่ว่าจะเป็นคอลเซ็นเตอร์ มิจฉาชีพ หรือจะเป็นมาร ไม่ว่าจะเป็นเทวปุตตมาร หรือว่ากิเลสมาร พวกนี้มันก็พ่ายแพ้ต่อการถูกรู้ ถูกเห็น หรือพ่ายแพ้ต่อการถูกรู้ด้วยใจที่เป็นกลาง หรือรู้ซื่อ ๆ เราห้ามไม่ให้ความเกลียด ความโกรธ เกิดขึ้นในใจเรานั้นยาก มันก็ต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดา แต่ถึงแม้มันเกิดขึ้นก็ทำอะไรใจเราไม่ได้ เพราะว่าใจเรามีสติเป็นเครื่องรักษา เหมือนกับฝนเราห้ามไม่ได้ แต่ว่าฝนก็ไม่ทำให้เราเปียกได้ เพราะว่าเรามีเรือนที่มุงหลังคาไว้ดีแล้ว ใจที่มีสติเป็นเครื่องรักษาไว้ดีก็ย่อมปลอดภัย -
26 ก.ย. 67 - ถ้ายังยึดก็ต้องทุกข์ : แต่ว่าผู้ใฝ่ธรรมหรือผู้ปฏิบัติธรรมจำนวนมากยังถือ ถือในความเป็นคนดี ฉันต้องคาดหวังให้คนยอมรับในความดีของฉัน ยึดติดถือมั่นในภาพลักษณ์ ยึดติดถือมั่นในตัวตน ยึดติดถือมั่นในความเป็นผู้มีสติ เพียงแค่เขาทักเขาท้วงว่า เธอไม่มีสติเลย ก็โกรธ หรือบางทีเขาทักว่า เธอโกรธแล้วนะ พอทักแบบนี้ มันสะเทือนมากเลย
อันนี้เพราะอะไร เพราะยังยึด ยึดทั้งถ้อยคำที่ได้ยิน ยึดทั้งความความสมบูรณ์แบบของภาพลักษณ์ หรือว่าความเป็นคนดี ความเป็นนักปฏิบัติธรรม ที่จริงมันต้องต้องฝึกไปถึงขั้นว่า เออ ใครเขาว่าเราว่าไม่มีสติ ใครเขาว่าไม่มีธรรมะก็เฉยเพราะมันเป็นแค่โลกธรรม ถ้าเราฝึกมาถึงขั้นนี้ ย่อมเรียกได้ว่ามีต้นทุนที่จะไปรับมือกับความเจ็บความป่วยในอนาคต รับมือกับความสูญเสีย ความพลัดพราก หรือรับมือกับโลกธรรมฝ่ายลบต่าง ๆ ซึ่งมีมากมาย ถ้าแค่นี้ยังหวั่นไหวใจกระเพื่อม เพียงแค่ถูกทักว่า เธอโกรธแล้ว เธอไม่มีสติแล้ว หรือว่าพอไม่มีคนเขาให้การยอมรับนับถือก็โกรธแล้ว แบบนี้ก็แน่ใจได้เลยว่า พออนาคตหรือวันข้างหน้าเจอความเจ็บความป่วย เจอความสูญเสียทรัพย์ สูญเสียคนรัก อกหัก ก็เสียศูนย์แน่นอน แต่ก็ไม่สายก็เอาสิ่งที่เกิดขึ้นนั่นแหละมาเป็นเครื่องฝึกใจว่า ที่ทุกข์เพราะว่าเป็นเพราะยึดมั่นถือมั่น อย่างที่พูดเมื่อวานนี้ เหตุการณ์เหล่านี้มันล้วนแต่ส่งสัญญาณบอกว่า เป็นเพราะเธอยึดมั่นถือมั่น จึงเศร้าโศกเสียใจ จึงเสียศูนย์ เมื่อถอนความยึดมั่นถือมั่นหรือละวางตัวตนได้ เกิดเหตุพวกนี้ก็ไม่ทำให้เป็นทุกข์ได้ อันนี้เขาเรียกว่าธรรมะที่ได้ปฏิบัติ ช่วยเรารับมือกับเหตุร้ายหรืออนิฏฐารมณ์เหล่านี้ได้ในที่สุด -
25 ก.ย. 67 - จับสัญญาณของกายและใจให้เป็น : แต่ถ้าเรามองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับกายกับใจของเราก็ตาม เป็นสัญญาณที่บอกเรา ว่ามันมีอะไรที่ไม่ถูกต้องบางอย่าง เราก็กลับมาดู กลับมาใคร่ครวญ เหมือนคำวิจารณ์ เหมือนคำต่อว่าด่าทอ ถ้ามองให้ดี เขากำลังบอกเรา ว่าเราทำอะไรบางอย่างที่ไม่ถูกต้องหรือควรแก้ไข หรือบางทีก็กำลังบอกสัจธรรมให้กับเรา คนที่คิดแบบนี้ก็จะบอกว่า วันไหนไม่ถูกตำหนิ วันนั้นเป็นอัปมงคล เพราะอะไร เพราะเขามองว่าการถูกตำหนิเป็นของดี
เหมือนอย่างที่หลวงพ่อคำเขียนบอกว่า แม้ถูกด่าก็เห็นสัจธรรมได้ แต่หลายคนไม่เห็นสัจธรรม เพราะเอาแต่โกรธ เอาแต่โมโห เอาแต่โวยวายว่า ทำไมมาว่าฉัน ทำไมมาด่าฉัน ก็เลยไม่เห็นสัจธรรม ที่จริงสัจธรรมนั้นก็คือ สิ่งที่ความโกรธหรือการถูกต่อว่าด่าทอมาบอกเรา ผู้ปฏิบัติ ผู้ใฝ่ธรรมต้องฉลาดในการจับสัญญาณจากสิ่งที่เรียกว่าอนิฏฐารมณ์ให้ได้ อนิฏฐารมณ์ก็คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่ไม่น่าพอใจ หรือเหตุการณ์ที่ไม่ถูกใจเรา พวกนี้ล้วนแต่เป็นของดี ที่บอกสิ่งดีๆ ให้กับเรา ถ้าเรารู้จักมอง -
24 ก.ย. 67 - ตัวรู้คู่ชีวิต : ยิ่งรู้ตัวมากเท่าไหร่ ตัวกูหรือตัวตนมันก็เบาบาง หรือความยึดถือในตัวตนก็เบาบาง แล้วพอความยึดถือในตัวตนน้อยลง ความกลัวตายมันก็น้อยลงตามไปด้วย เรียกว่าเมื่ออยู่ก็อยู่อย่างมีความสุข เมื่อถึงเวลาตายก็ไม่อาลัยอาวรณ์ อันนี้เพราะว่ามีความรู้สึกตัวเป็นพื้นฐานที่ช่วยทำให้นอกจากกิเลสตัณหามันมารบกวนจิตใจได้น้อยลงแล้ว ยังทำให้ความยึดติดถือมั่นในตัวตนเบาบาง ทำให้อัตตามันมีอำนาจครอบงำจิตใจน้อยลง คนเราถ้าอัตตาครอบงำจิตใจน้อยลง ความกลัวตายมันก็น้อยลงไปด้วย
ท่านอาจารย์พุทธทาสจึงบอกให้ฝึก “ตายก่อนตาย” ฝึกตายก่อนตายหมายความว่า ฝึกให้ตัวกูมันตายก่อนที่จะหมดลม ที่จริงตัวกูมันไม่มีตั้งแต่แรก แต่ที่ท่านพูดหมายความว่า ให้ความยึดถือในตัวกูมันดับ เมื่อความยึดถือในตัวกูมันดับ หรือมันน้อยลงความกลัวตายก็จะน้อยลงตามไปด้วย และการทำความรู้สึกตัวอยู่เสมอ อันนี้มันเป็นพื้นฐานเลยในการที่จะทำให้ความยึดถือในตัวกูมันน้อยลง ถ้ารู้สึกตัวจริงๆ รู้สึกตัวที่เกิดจากการที่มีสติครองใจ ทำอะไรก็ทำด้วยความรู้เนื้อรู้ตัว รู้กายรู้ใจ ไม่ใช่รู้สึกตัวแบบประเภทว่าไม่สลบ ไม่เมา ความรู้สึกแบบคนทั่ว ๆ ไปมันไม่ใช่ความรู้สึกตัวที่พูดถึงเท่าไร เพราะความรู้สึกตัวที่พูดถึงมันต้องมีสติปัฏฐานเป็นพื้นฐาน คือรู้กายรู้ใจ รู้จักตัวเองในมุมที่ลึกซึ้ง ไม่ใช่แค่รู้ว่าอยากอยู่ ไม่อยากตาย หรือไม่ใช่แค่รู้ว่าอยู่ไปเพื่ออะไร แต่รู้กายและใจในปัจจุบันขณะ จนกระทั่งไม่เปิดช่องให้กิเลสตัณหา หรือความหลงในตัวกูมันครอบงำใจได้ -
23 ก.ย. 67 - ความดีทำให้ชีวิตมีคุณค่า : การทำดี จริง ๆ แล้วถ้าเข้าใจความหมายความดี นี่มันเท่นะ อาจจะไม่ได้มีคนยกย่องสรรเสริญ เด่นดังในโซเซียบมีเดีย แต่ว่ามันจะมีคนที่มีความหมายกับเรา กับชีวิตของเราก็ให้การยอมรับ และที่สำคัญคือมันทำให้ตัวเราภูมิใจในตัวเอง คนอื่นยอมรับคนอื่นชื่นชมแต่ตัวเราไม่ยอมรับตัวเอง ไม่ภูมิใจในตัวเอง มันก็ไม่ใช่ แล้วคนเราจะเห็นคุณค่าของตัวเองได้ ยอมรับตัวเอง ภูมิใจในตัวเองมันก็เพราะ ทำความดี มากกว่าที่เป็นเพราะใช้สินค้าแบรนด์เนม ใช้ของราคาแพง มีสร้อย มีทองมาประดับกาย อันนั้นมันฉาบฉวย
หรือแม้แต่จะเป็นที่ยอมรับของพวก เพราะว่ากล้า กล้าโทรมหญิง หรือว่ากล้าฆ่าคน อันนั้นมันก็เป็นเรื่องฉาบฉวย แม้หนุ่มที่ชื่อบีเขาจะบอกว่า รู้สึกว่าผมเองนี่เป็นคนสำคัญ มีคุณค่าเพราะว่าเพื่อน ๆ เขายอมรับที่ผมกล้ายิงคู่อริ แม้จะพลาดเป้า แม้กระสุนจะพลาดเป้า แต่จริง ๆ มันเป็นความสำนึกที่ชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้นแหละ เพราะจริง ๆ ไม่ได้ทำความดีอย่างแท้จริง แต่ถ้าทำความดีอย่างแท้จริงโดยเฉพาะการไปช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น เป็นจิตอาสา มันจะทำให้เกิดความสุขที่การกิน ดื่ม เที่ยว ช็อปนี่มันเทียบไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นอย่าไปคิดว่าการทำดีเป็นเรื่องยาก มันง่ายกว่าที่เราคิดเยอะ แล้วมันไม่ได้อยู่ที่รูปแบบ แล้วมันก็ให้รางวัลที่คุ้มค่าอย่างแท้จริงเพราะว่ามันทำให้รู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่า มีความสำคัญ ภูมิใจในตัวเองได้ - Laat meer zien